เอทิลีน (Ethylene) คืออะไร

Ethylene (เอทิลีน) เป็นฮอร์โมนพืชชนิดเดียวที่เป็นแก๊ส (สูตรเคมี คือ C2H4) เกิดจากกระบวนการเมทาบอลิซึมของพืช โดยพืชปลดปล่อยออกมาในระยะที่พืชสุก เช่น กล้วย ทุเรียน มะม่วง ฯลฯ เพื่อทำให้เกิดการสุกของผลไม้และเกิดการเปลี่ยนแปลงต่างๆ  ได้แก่

– การสลายแป้งไปเป็นน้ำตาล ทำให้ผลไม้มีรสหวาน
– การสลายตัวของกรดอินทรีย์ ทำให้รสเปรี้ยวของผลไม้ลดลงเมื่อสุก
– ความแน่นเนื้อลดลงและการสูญเสียความเต่งตึงของเซลล์ (loss of cell turgor)
– การทำงานของเอนไซม์ย่อยเพกตินและผนังเซลล์เกิดสารให้กลิ่นรสและสารระเหยต่างๆ
– และยังมีผลต่อการสลายตัวของคลอโรฟิลล์ทำให้สีเขียวลดลงและเห็นสีของรงควัตถุ เช่น แคโรทีนอยด์ที่ให้สีเหลืองในมะม่วงเพิ่มขึ้นเมื่อผลไม้สุก รวมถึงการหลุดร่วงของใบ

* อ้างอิง : อุตสาหกรรมบรรจุภัณฑ์ สำนักงานเศรษฐกิจอุตสาหกรรม

ผลไม้ที่บ่มให้สุกได้ (Climatic Fruits) คืออะไร

Climatic Fruits คือ ผลไม้ที่บ่มให้สุกได้ เป็นประเภทของผลไม้แบ่งตามอัตราการหายใจที่แตกต่างกัน ซึ่งปรับเปลี่ยนตามอายุนับจากที่ผลไม้แก่จัดหรือผลบริบูรณ์ (Maturity) โดยอัตราการหายใจจะเพิ่มสูงขึ้นจนถึงจุดสูงสุด (Climateric Peak) จากนั้นอัตราการหายใจจะค่อย ๆ ลดลง เมื่อผลไม้สุกจะมีการเปลี่ยนแปลงสภาพภายใน เช่น มีการเปลี่ยนสีของเปลือก การเปลี่ยน Starch ให้เป็นน้ำตาลทำให้ผลไม้สุกมีรสหวาน เนื้อนิ่ม กลิ่นหอมมากกว่าผลไม้ดิบ ผลไม้ประเภท Climatic Fruits ในระยะดิบมีการสังเคราะห์เอทิลีน (Ethylene: C2H4) น้อยมาก แล้วกลับเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็วในระยะที่ผลไม้บริบูรณ์และมีการสังเคราะห์เอทิลีนพร้อมอัตราการหายใจสูงสุดเมื่อผลไม้สุก (Fruit Ripening) ตัวอย่างของ Climatic Fruits คือ กล้วย ทุเรียน มะม่วง น้อยหน่า มะละกอ มะเขือเทศ อะโวคาโด ฝรั่ง ขนุน แตงโม ละมุด แอปเปิล แพร์ สาลี่ พลับ พีช กีวีฟรุตท์ และมะเดื่อ เป็นต้น

 

Non-climateric Fruits หมายถึง ผลไม้ที่อัตราการหายใจค่อยๆ ลดลงเมื่อผลไม้อายุมากขึ้น และเมื่อผลไม้สุกอัตราการหายใจจะไม่เพิ่มขึ้น โดยเมื่อเก็บเกี่ยวจากต้นแล้วจะไม่สุกต่อและไม่สามารถบ่มให้สุกได้โดยการใช้เอทิลีน ดังนั้น ควรเก็บเกี่ยวเมื่อผลไม้สุก (ripe) เต็มที่พร้อมบริโภค

* อ้างอิง : Food Network Solution

ปัจจัยการคำนวณการใช้สารดูดซับเอทิลีน

– ชนิดของพืช/ผลไม้
– น้ำหนักของพืช/ผลไม้
– ลักษณะและประเภทของบรรจุภัณฑ์
– สภาพอากาศและอุณหภูมิ
– ระยะเวลาการขนส่ง